วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2554

สงขลาเฉือนชนะนครฯ 1:0 ครองแชมป์ฟุตบอลจตุรมิตร 54











วันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่สนามกีฬาสะพานหิน เทศบาลนคร อ.เมือง จ.ภูเก็ต ได้มีการแข่งขันกีฬาจตุรมิตร ครั้งที่ 7 ประจำปี 2554 ซึ่งสมาคมชาวนครศรีธรรมราชเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน มีนายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธี และได้ร่วมกับนายปมุข อัจฉริยะฉาย นายกสมาคมชาวนครศรีธรรมราช นายสัจจพล ทองสม นายกสมาคมชาวพัทลุงจังหวัดภูเก็ต ผู้แทนจากชมรมชาวตรัง ตัวแทนชมรมชาวสงขลาจังหวัดภูเก็ต ร่วมเตะปี๊บทำพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาจตุรมิตร ขึ้นอย่างเป็นทางการด้วย โดยมีนางจุฑารัตน์ เรืองวิมล ประธานชมรมชาวสงขลา และสมาชิกของจังหวัดจตุรมิตร ทั้ง 4 จังหวัด ภูเก็ต สงขลา ตรัง พัทลุง และนครศรีธรรมราช รวมถึงแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมจำนวนมาก

ทั้งนี้การจัดการแข่งขันดังกล่าว นายทนงศักดิ์ ศักดิ์เกษมกฤต ประธานการจัดงาน กล่าวว่า การแข่งขันกีฬาจตุรมิตร ปี พ.ศ.2554 ในครั้งนี้ เป็นการสร้างความสมานสามัคคีกันในมวลสมาชิกชาวจตุรมิตร เพื่อเป็นการส่งเสริมการออกกำลังกายของมวลสมาชิก เพื่อสร้างกิจกรรมร่วมกันในการนำไปสู่การทะนุบำรุงให้สังคมภูเก็ตมีความเข้มแข็ง และเพื่อสังสรรค์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

สำหรับประเภทของกีฬาในการแข่งขันครั้งนี้ มี 3 ประเภทกีฬา โดยประเภทกีฬาฟุตบอลประเพณี ซึ่งเป็นกีฬาหลักที่ต้องแข่งขันทุกปี ผลการแข่งขันในคู่ชิงปรากฏว่า ชมรมชาวสงขลาตีประตูก่อนหมดเวลาในครึ่งหลังเอาชนะทีมชาวนครฯ ไป 1:0 ประตู ขณะที่ผลการแข่งขันในประเภทกีฬาพื้นบ้าน ซึ่งปีนี้มีกีฬาวิ่งผลัดหนีบท่อพีวีซี กีฬาวิ่งผลัดกางเกงใน และกีฬาเตะปี๊บ ปรากฏว่าพัทลุงเอาชนะในทุกรายการแข่งขัน ส่วนการแข่งขันในประเภทกีฬาเสริม มีการแข่งขันเปตอง ในคู่ชิง โดยทีมสมาคมชาวนครศรีธรรมราชเอาชนะทีมชมรมชาวสงขลา การแข่งขันสนุกเกอร์ และการแข่งขันกอล์ฟ ทีมชนะได้แก่สมาคมชาวพัทลุง คว้าถ้วยรางวัลไปครอง

วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2554

ภูเก็ตเปิดบัญชีรับบริจาคเงิน ช่วยผู้ประสบภัยสึนามิที่ญี่ปุ่น




เมื่อ เวลา 13.30 น. วันที่ 16 มี.ค.ที่ห้องรับรอง ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องร่วมกันเปิดศูนย์รับบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ที่ประเทศญี่ปุ่น หรือ”ภูเก็ตร่วมใจ ช่วยผู้ประสบภัยที่ญี่ปุ่น” โดยมีนายคาซูชิ มิยาชิตะ ( Kazushi Miyashita )นายกสมาคมญี่ปุ่นภูเก็ต ตัวแทนนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นในจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนตัวแทนกงสุลอาชีพและกงสุลกิตติมศักดิ์นานาชาติ,นักธุรกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาร่วมบริจาค พร้อมกันนี้ทางบริษัททีโอที คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) สนับสนุนติดตั้งหมายเลขโทรศัพท์ 076 216 333 และมีเจ้าหน้าที่คอยรับโทรศัพท์ด้วย

นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา หลายคนคงทราบว่ามีความรุนแรงมากเหลือเกินที่ทำลายทั้งชีวิตชาวญี่ปุ่น ทรัพย์สินและบ้านเรือน เป็นจำนวนมาก หลังจากที่ประชาชนที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ตทราบข่าวนี้ ทำให้นึกย้อนไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547หรือ 7 ปี ที่แล้วจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดอื่นๆ อีก 5 จังหวัดในบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน ประสบปัญหาธรณีพิบัติภัยหรือคลื่นสึนามิ ยังซึ้งใจชาวญี่ปุ่น เพราะปรากฏว่าในครั้งนั้นประเทศญี่ปุ่น เป็นชาติแรกๆ ที่เข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือชาวภูเก็ตมากเหลือเกิน นอกจากนี้ในช่วงการจัดงานรำลึกทุกปีชาวญี่ปุ่นและสมาคมญี่ปุ่นภูเก็ต ยังส่งตัวแทนมาประสานงานเพื่อร่วมงานด้วย
ดังนั้นทางจังหวัดจึงเปิดศูนย์เพื่อรับบริจาคเงินและส่งไปช่วยเหลือ ชาวญี่ปุ่น ประกอบกับกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือแจ้งให้จังหวัดภูเก็ต และเข้าใจว่า น่าจะทุกจังหวัดรวบรวมเงินต่างๆ ที่ประชาชนในพื้นที่บริจาคช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นและมีกำหนดจัดตั้งศูนย์ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 26 มีนาคมนี้ เมื่อรวบรวมเงินได้แล้ว จะรวบรวมส่งถึงกระทรวงมหาดไทย ที่จะส่งมอบต่อกระทรวงการต่างประเทศและ ส่งให้ทางการประเทศญี่ปุ่นต่อไป

ทั้งนี้ในวันนี้นายคาซูชิ มิยาชิตะ นายกสมาคมญี่ปุ่นภูเก็ต และคณะเข้ามาหารือจังหวัดภูเก็ตและแจ้งว่าได้ช่วยเหลือไปส่วนหนึ่งแล้ว และมีแนวคิดตรงกันพอดี ที่พิจารณาเปิดศูนย์ขึ้นมารองรับการรณรงค์บริจาคเป็นเงินสด เนื่องจากการบริจาคเป็นสิ่งของมาให้จังหวัดรวบรวมและส่งไป จะไม่สะดวกโดย สามารถติดต่อสอบถามและบริจาคผ่านบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) เลขที่บัญชี 805-0-41578-3 และจังหวัดพยายามที่จะประชาสัมพันธ์ทุกวิถีทางเพื่อที่จะให้ประชาชน ชาวญี่ปุ่นรวมทั้งคนที่มาเที่ยวใน จังหวัดภูเก็ต มีโอกาสร่วมบริจาคเงินจนถึงเวลา 12.00น.ของวันที่ 26 มีนาคม 2554 หลังจากนั้น จะโอนเงินให้กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ นายตรี ยังได้กล่าวเชิญชวนพี่น้องชาวภูเก็ตตลอดจนชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในภูเก็ตร่วมกันบริจาคเงินให้การช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นที่ประสบภัยสึนามิอยู่ในขณะนี้ เหมือนกับที่ชาวญี่ปุ่นได้ให้การช่วยเหลือภูเก็ตและจังหวัดอันดามัน ในช่วงที่เกิดสึนามิ รวมทั้งการในการจัดพิธีรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากสึนามิทางสมาคมญี่ปุ่น ภูเก็ต ก็ได้ดำเนินการมาตลอด 7 ปีที่ผ่านมา
ทางด้านนายคาซูชิ มิยาชิตะ นายกสมาคมญี่ปุ่นภูเก็ต กล่าวว่า ในช่วงหน้าท่องเที่ยวหนาแน่นหรือไฮซีซั่น มีนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นประกอบธุรกิจเกี่ยวกับบริษัทนำเที่ยว-โรงแรม,ธุรกิจดำน้ำและผู้ที่เกษียณอายุ อาศัยอยู่ในพื้นที่หาดป่าตอง และในตัวเมืองภูเก็ตมากถึงประมาณ 400-500 คน และรู้สึกดีใจ และขอบคุณมามากที่ชาวภูเก็ต ได้ร่วมมือร่วมใจกันช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นที่ประสบภัยสึนามิโดยการจัดตั้งศูนย์รับบริจาค เพราะในปี 2547 นั้น เกิดคลื่นสึนามิ ชาวญี่ปุ่นได้มาช่วยเหลือชาวภูเก็ตมากพอสมควร จากการตรวจสอบพบว่า มีชาวญี่ปุ่นที่มาจากเมืองเซ็นได บางส่วน คือพนักงานในบริษัทดำน้ำ 1 คน มีญาติและพ่อแม่อาศัย อยู่ในพื้นที่ประสบภัย ที่ติดต่อได้ครบถ้วน แต่ เพื่อนๆ ติดต่อยังไม่ได้ รวมทั้งมีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นจากเมืองเซ็นไดอยู่ในจังหวัดภูเก็ตส่วนหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ นายกสมาคมญี่ปุ่นภูเก็ต กล่าวว่า ในปัจจุบันชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ มีความต้องการด้าน น้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับใช้กับยานพาหนะและเครื่องทำ ความร้อนหรือฮีตเตอร์ เพราะว่า อากาศยังหนาวเย็นอยู่ หรือในวันนี้อุณหภูมิลดลงเหลือ 0 องศาเซลเซียสมีหิมะตก รวมทั้งผ้าห่มเวชภัณฑ์,แบตเตอรี่ สำหรับใช้กับวิทยุสื่อสาร ตลอดจนผ้าอ้อมและอาหารสำหรับเด็ก อย่างไรก็ดีการจัดส่งสิ่งของอาจจะกระทำได้ลำบากเพราะเส้นทางถนน ทางรถไฟ ในพื้นที่ประสบภัยสึนามิเสียหาย แนวทางที่เหมาะสม คือ การร่วมบริจาคเงิน ที่ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจะโอนถึงทางการญี่ปุ่น และพิจารณานำไปสมทบทุนจัดซื้อสิ่งของที่จำเป็นสำหรับผู้ประสบภัยต่อไป

วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2554

ภูเก็ตขาดแคลนแรงงานกว่า 5,000 อัตรา






นายนภดล พลอยอยู่ดี จัดหางานจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า ขณะนี้ความต้องการใช้แรงงานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต มีสูงมาก โดยเฉพาะในส่วนของโรงแรมและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น ผู้ให้บริการในโรงแรม พนักงานขาย ช่างซ่อมบำรุงหรือช่างไฟฟ้า พนักงานบัญชีหรือธุรการ
รวมทั้งพนักงานทำความสะอาดและพนักงานรักษาความปลอดภัย โดยมีตำแหน่งงานว่างมากว่า 5,000 ตำแหน่ง แต่ปัจจุบันมีผู้สมัครงานไม่มากนัก ซึ่งสาเหตุที่จังหวัดภูเก็ตประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานจำนวนมาก ก็เนื่องจากปัจจุบันนี้เศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตอยู่ในระดับดีมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาจำนวนมากทำให้โรงแรมต่างๆและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวมีความต้องการที่จะใช้พนักงานจำนวนมาก
ทางสำนักงานจัดหางานจังหวัดภูเก็ต จึงได้ให้มีการจัดงานนัดพบแรงงานย่อยขึ้น เมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมาเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ที่กำลังหางานทำ ตลอดจนถึงนักเรียน นักศึกษา ที่กำลังเข้าสู่การปิดภาคเรียนให้มีงานทำในช่วงเวลาปิดภาคเรียน นอกจากนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานทางจังหวัดภูเก็ต กำหนดนำผู้ประกอบการเดินทางไปรับสมัครงานในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ในระหว่างวันที่ 25-26 มี.ค.นี้ด้วย เพื่อเคลื่อนย้ายแรงงานเข้ามาทำงานในพื้นที่จังหวัดภูเก็ตอย่างเป็นระบบ และที่สำคัญ เป็นการแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานในพื้นที่โดยผู้สมัครจะได้พบกับเจ้าของกิจการโดยตรง และสามารถสอบสัมภาษณ์ ณ วันสมัครได้เลย ซึ่งผู้สมัครไม่ต้องเดินทางมาสมัครที่ภูเก็ต ซึ่งจะทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่าย

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2554

รมว.สาธารณสุข เปิดรพ.4 มุมเมือง - วางศิลาฤกษ์อาคาร

















เมื่อวันที่ 11 มี.ค. นายเรวัต อารีรอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต หัวหน้าส่วนราชการ ข้าราชการในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และพี่น้องชาว อสม.ภูเก็ต ร่วมต้อนรับ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในโอกาสมาเป็นประธานวางศิลาฤกษ์อาคารผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลถลาง ซึ่งได้รับการสนับสนุนงบประมาณฯ ประจำปี 2553 จำนวน 100,206,000 บาท เพื่อก่อสร้างอาคารผู้ป่วยนอก และบำบัดรักษา เป็นอาคาร 4 ชั้น ทำให้โรงพยาบาลมีสถานที่เพียงพอสำหรับผู้มาใช้บริการ
หลังจากนั้นรัฐมนตรีฯ ได้เป็นประธานเปิดโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต สาขาหยี่เต้ง หรือโรงพยาบาล 4 มุมเมือง เพื่อลดความแออัดของผู้ป่วยนอกที่มาใช้บริการของโรงพยาบาลขนาดใหญ่
เป็นประธานวางศิลาฤกษ์อาคารหลวงพ่อแช่ม โรงพยาบาลวชิระภูเก็ต ภูเก็ต เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับผู้มารับบริการ และลดปัญหาเตียงผู้ป่วยไม่เพียงพอ และท้ายสุดรัฐมนตรีฯ ได้เป็นประธานเปิดงานเส้นทางสุขภาพดีที่จังหวัดภูเก็ต ณ หอประชุม มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต ซึ่งในงานเส้นทางสุขภาพฯ มีพิธีเปิดกองทุนเพิ่มไอโอดีน เพิ่มไอคิว จ.ภูเก็ต แจกหมวกกันน็อคให้กับเจ้าหน้าที่ และการลงนามความร่วมมือระหว่างผู้อำนวยการโรงพยาบาลรัฐ เอกชน และสมาคมสตรีภูเก็ตเพื่อเฝ้าระวังมะเร็งปากมดลูก
นอกจากนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขยังได้มอบนโยบายสารธารณสุขให้แก่ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำชุมชน เจ้าหน้าที่ และอสม. รวมทั้งมีนิทรรศการความรู้ต่างๆ ด้านสุขภาพ จากศูนย์มะเร็งจังหวัดสุราษฎร์ธานี สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต และโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน อาทิ ความรู้เรื่องไอโอดีน มะเร็งปากมดลูก มะเร็งเต้านม แผนที่ทางเดินยุทธศาสตร์ แพทย์แผนไทย อาหารปลอดภัย To Be No 1 โครงการสนองน้ำพระทัยในหลวง จิตอาสา โรงพยาบาล 3 อี หมวกกันน็อค 100% การดูแลผู้ป่วยเบาหวานครบวงจร แพทย์ทางเลือก การฝังเข็ม และสาธารณสุขเพื่อการท่องเที่ยว
ทั้งนี้นายจุรินทร์ ลักษณวิศิฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวถึงการเปิดโรงพยาบาลวชิระภูเก็ตสาขา หรือโรงพยาบาลสี่มุมเมือง ว่า เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงสาธารณสุขที่ต้องการแก้ไขปัญหาความแออัดของผู้ป่วยที่จะเข้าไปยังโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด และเป็นการเปิดโอกาสการเข้าถึงการบริการสาธารณสุข และบริการส่งเสริมสุขภาพให้กับประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งการแก้ไขปัญหาความแออัดภายในโรงพยาบาลนั้นได้กำหนดมาตรการในการดำเนินการไว้ 3 มาตรการประกอบด้วยมาตรการเพิ่ม/ขยายพื้นที่การให้บริการ มาตรการการขยายเวลา และมาตรการในการพัฒนาระบบส่งต่อผู้ป่วย
สำหรับโรงพยาบาลวชิระภูเก็ต เป็นโรงพยาบาลแรกที่เปิดให้บริการโรงพยาบาลสาขาหรือโรงพยาบาลสี่มุมเมือง ซึ่งหลังจากนี้อาจจะขยายไปในมุมเมืองต่างๆ ของจังหวัดภูเก็ตเพื่อให้ครอบคลุมทั้งจังหวัด ส่วนโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วทั้งประเทศก็จะต้องดำเนินการเช่นเดียวกันซึ่งขณะนี้อาจจะมีหลายๆ โรงพยาบาลที่ดำเนินการแล้วแต่ยังไม่มีการเปิดอย่างเป็นทางการ การเปิดโรงพยาบาลสาขานั้นสามารถช่วยประหยัดงบประมาณในการสร้างตึกไปได้จำนวนมาก
ส่วนปัญหาเรื่องของบุคลากรมีไม่เพียงพอนั้น นายจุรินทร์ กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องที่กำลังอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขปัญหา และภายใน 6 ปีนี้คิดว่าจะสามารถผลิตแพทย์ออกมาได้เพียงพอกับความต้องการ ส่วนในขณะนี้แพทย์พยาบาลที่เข้ามาให้บริการในโรงพยาบาลสาขาเป็นแพทย์พยาบาลชุดเดียวกับที่ให้บริการในโรงพยาบาลศูนย์หรือโรงพยาบาลประจำจังหวัด
นายจุรินทร์ กล่าวถึงโครงการส่งเสริมให้สถานีอนามัยเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบลด้วยว่า ภายในปีนี้จะต้องดำเนินการได้เสร็จทั้งหมด สำหรับในส่วนของจังหวัดภูเก็ตมีจำนวน 21 แห่งนั้นจะ

ตำรวจภูเก็ต เปิดศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินสายด่วน 191 หมายเลขเดียวทั่วทั้งเกาะ








เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 10 มี.ค. ที่ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินชั้น 4 สถานีตำรวจภูธรเมืองภูเก็ต นายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน191 โดยมี พล.ต.ต.พิกัด ตันติพงศ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธร จ.ภูเก็ต และข้าราชการตำรวจ รวมทั้งผู้ที่เกี่ยวข้อง และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วม
พล.ต.ต.พิกัด ตันติพงศ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้กำหนดแนวทางการพัฒนาศูนย์บริการประชาชน ที่สามารถดำเนินการได้อย่างเร่งด่วน โดยการพัฒนาปรับปรุงระบบสารสนเทศและการสื่อสาร โทรศัพท์สายด่วน 191 ซึ่งหน่วยงานตำรวจส่วนใหญ่มีการใช้งาน และเป็นที่จดจำของประชาชนทั่วไปอยู่แล้ว ให้เป็นศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน ที่สามารถควบคุมและสั่งการปฏิบัติที่มีเอกภาพ เรียกว่า ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 ของตำรวจภูธรจังหวัด ในแต่ละจังหวัดเพียงแห่งเดียว
ในการนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มอบหมายให้สำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร โดยกองตำรวจสื่อสาร จัดทำ “โครงการศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 ตำรวจภูธรจังหวัด” ขึ้น ตามโครงการระยะที่ 1 และ 2 รวมจำนวน 20 จังหวัด และสำหรับตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต อยู่ในโครงการระยะที่ 3 ประกอบด้วย 5 จังหวัด คือ ตำรวจภูธรจังหวัดลำปาง ระยอง ประจวบคีรีขันธ์ นราธิวาส และภูเก็ต
พล.ต.ต.พิกัด กล่าวอีกว่า การปรับปรุงศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 นี้ มีเป้าหมายให้ประชาชนสามารถแจ้งเหตุฉุกเฉินทางโทรศัพท์สายด่วน หมายเลข 191 เพียงหมายเลขเดียวเท่านั้น ณ ที่ใดก็ได้ทั่วประเทศ เจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถเข้าไปช่วยเหลือ หรือระงับเหตุได้อย่างทันท่วงที เพราะเวลาเพียงเสี้ยววินาทีอาจหมายถึงชีวิตและทรัพย์สินที่สูญเสียไป ทำให้ประชาชนไม่สับสน ในการใช้หมายเลขโทรศัพท์แจ้งเหตุฉุกเฉินอีกต่อไป
“หลังจากนี้การแจ้งเหตุจากทุกพื้นที่ในจังหวัดภูเก็ตจะเข้าตรงไปยังศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน191 ทั้งหมด และการรับแจ้งเหตุก็จะมีการเก็บข้อมูลและบันทึกเสียงเพื่อเก็บไว้ตรวจสอบ เชื่อว่าการเปิดศูนย์ดังกล่าวจะทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถเข้าถึงที่เกิดเหตุได้เร็วขึ้นภายในไม่กี่นาที นอกจากนั้นยังช่วยลดปัญหาการโทรศัพท์เข้ามาก่อกวนได้อีกด้วย”
พล.ต.ต.พิกัด กล่าวต่อไปอีกว่า การจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน 191 ของตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อประชาชน และสร้างความเชื่อมั่นในประสิทธิภาพการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อปกป้องคุ้มครองชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนยินดีให้ความร่วมมือกับตำรวจมากยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแบบใหม่นี้ ได้นำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ เช่นเดียวกับศูนย์ Call Center ของภาคเอกชน โดยระบบจะจัดการเสียงและข้อมูลแจ้งเหตุในรูปแบบดิจิตอล ส่งผ่านไปยังสถานีตำรวจที่เกิดเหตุ ทำให้ลดข้อผิดพลาดที่มีสาเหตุจากบุคคลและอุปกรณ์ ในการจดบันทึกเหตุและการประสานงานที่ไม่ชำนาญของเจ้าหน้าที่ สามารถสืบค้น รวบรวมข้อมูล ทั้งฐานข้อมูลบุคคล แผนผังสถานที่ในจังหวัดได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และที่สำคัญประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้ตลอดเวลา
“ศูนย์รับแจ้งเหตุฉุกเฉินแบบใหม่นี้ ได้นำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่นเดียวกับศูนย์ Call Center ของภาคเอกชนมาใช้ โดยระบบจะจัดการเสียงและข้อมูลแจ้งเหตุในรูปแบบดิจิตอล ส่งผ่านไปยังสถานีตำรวจที่เกิดเหตุ ทำให้ลดข้อผิดพลาดที่มีสาเหตุจากบุคคลและอุปกรณ์ ในการจดบันทึกเหตุและการประสานงานที่ไม่ชำนาญของเจ้าหน้าที่ สามารถสืบค้น รวบรวมข้อมูล ทั้งฐานข้อมูลบุคคล แผนผังสถานที่ในจังหวัดได้อย่างรวดเร็ว ถูกต้อง และที่สำคัญประชาชนสามารถตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ได้ตลอดเวลา”

วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2554

วางศิลาฤกษ์สถานปฏิบัติธรรมนานาชาติท่าฉัตรไชย
















เมื่อเวลา 13.45 น.วันที่ 2 มี.ค. ที่บริเวณวัดท่าฉัตรไชย อ.ถลาง จ.ภูเก็ต ได้มีการประกอบพิธีวางศิลาฤกษ์สถานปฏิบัติธรรมนานาชาติท่าฉัตรไชย ซึ่งทางองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) ร่วมกับสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พุทธสมาคมจังหวัดภูเก็ต และจังหวัดภูเก็ต จัดสร้างขึ้น โดยมีสมเด็จพระวันรัต วัดบวรนิเวศวิหาร เป็นองค์ประธานฝ่ายสงฆ์ และมีนายแผน วรรณเมธี ประธาน องค์การ พ.ส.ล. นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานฝ่ายฆารวาส ผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานพระพุทธศาสนาจังหวัดภูเก็ต ผู้บริหารองค์การ พ.ส.ล. เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และประชาชนผู้มีจิตศรัทธาเข้าร่วมในพิธีเป็นจำนวนมากนายแผน วรรณเมธี ประธาน องค์การ พ.ส.ล.กล่าวว่า การจัดสร้างสถานปฏิบัติธรรมนานาชาติท่าฉัตรไชยนั้น เพื่อให้ชาวพุทธทั่วโลกได้ร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 84 พรรษา ในปี 2554 เป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ แสดงความจงรักภักดี และเผยแพร่พระเกียรติคุณ น้อมถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทั้งนี้เหตุที่องค์การ พ.ส.ล.สร้างสถานปฏิบัติธรรมดังกล่าวขึ้นที่ จ.ภูเก็ต เนื่องจากเห็นว่าจังหวัดภูเก็ตไม่มีสถานปฏิบัติธรรมสำหรับชาวต่างชาติที่สนใจจะศึกษาเกี่ยวกับพุทธศาสนาเลย ทั้งๆ ที่ จ.ภูเก็ตเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพทางการท่องเที่ยวสูง เป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวทั่วโลก โดยมีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวปีละ 4-5 ล้านคน ชาวต่างชาติจากนานาประเทศจะได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของชาวพุทธในประเทศไทย และเป็นการเรียนรู้พระพุทธศาสนาตามหลักที่ถูกต้อง เพื่อเอื้อต่อการศึกษา และปฏิบัติธรรมอันเป็นพื้นฐานการเข้าถึงแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริงต่อไปในส่วนของการสอนการปฏิบัติธรรมนั้น ทางองค์การ พ.ส.ล.ได้ร่วมกับสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พระพรหมเมธี วัดสัมพันธวงศาราม พระธรรมบัณฑิต วัดพระราม 9 กาญจนาภิเษก ตั้งคณะทำงานขึ้นเพื่อพิจารณาวางแผนการอบรมและการสอนปฏิบัติธรรมให้แก่ชาวต่างชาติเป็นประจำตลอดทั้งปีอย่างไรก็ตามสำหรับอาคารที่ก่อสร้างนั้น เป็นอาคารโครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น ผนังภายนอกก่ออิฐโชว์ทั้งหลัง เป็นลักษณะอาคาร 2 หลังประกอบกัน มีทางเชื่อมชั้นบนอาคารเป็นสถาปัตยกรรมร่วมระหว่างตะวันตกกับตะวันออก คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 1 ปีเศษ

วันพุธที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2554

ทูตอังกฤษห่วงปัญหาสูญเสียนทท.จากอุบัติเหตุมอเตอร์ไซค์









เมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 28 ก.พ.ที่ผ่านมา นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตต้อนรับ นายอาสิฟ อามาด (Mr.Asif Ahmad) เอกอัคราชทูตอังกฤษ ประจำประเทศไทย ในโอกาสเดินทางเข้าพบเพื่อเยี่ยมคารวะ โดยมีนายเรวัต อารีรอบ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดภูเก็ต ร่วมต้อนรับ ที่ห้องทำงานผู้ว่าฯ ชั้น 2 ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต
โดยนายอาสิฟ กล่าวว่า แต่ละปีมีนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษมาเที่ยวประเทศไทยประมาณ 850,000 คน และตนพูดได้ว่าเกินกว่าครึ่งเดินทางมายังจังหวัดภูเก็ต นักท่องเที่ยวอังกฤษและชาวอังกฤษที่พำนักอยู่ที่ภูเก็ต ต่างมีช่วงเวลาที่ดีที่ได้อยู่ที่นี้ แล้วก็มีบ้างที่มีปัญหา
“ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ของเราคือการให้ความรู้และให้คำแนะนำประชาชนของเราเอง นักท่องเที่ยวไม่ควรทำการใดๆ ในไทยที่เค้าไม่ทำในอังกฤษ เช่น ไม่มีใครในอังกฤษที่จะขี่มอเตอร์ไซค์โดยไม่สวมหมวกนิรภัย มันเป็นไปไม่ได้เลย เค้าจะถูกจับภายในเวลา 5 นาที เรามีการสูญเสียผู้คนจำนวนมากจากการขี่มอเตอร์ไซค์ที่ภูเก็ต เป็นจำนวนที่น่าเป็นกังวล ซึ่งนั้นก็เป็นสิ่งที่ผมต้องการจะแก้ไข”
นายอาสิฟ กล่าวอีกว่า ทางตนจะกลับมาที่ภูเก็ตอีกครั้งภายในเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อที่จะรณรงค์และอธิบายแก่นักท่องเที่ยวถึงความปลอดภัยเบื้องต้น รวมทั้งการไม่ว่ายน้ำในช่วงที่มีมรสุม
นอกจากนี้ นายอาสิฟ ยังได้กล่าวถงกรณีเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศ และคดีข่มขืนด้วยว่า ตนได้มีการพูดคุยกับตำรวจในเรื่องอาชญากรรมและการคุกคามทางเพศต่อผู้หญิง หากพวกผู้หญิงเหล่านั้นถูกทำร้าย ไม่ว่าพวกเธอจะเป็นชาวไทย รัสเซีย หรืออังกฤษ ปัญหาก็ไม่ได้แตกต่างกัน
ทั้งนี้ตนได้เสนอไปว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลในเรื่องนี้ไม่ควรเป็นเจ้าหน้าที่ชาย แต่ควรจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจหญิงที่ได้รับการฝึกฝนเพื่อที่จะดูแลเกี่ยวกับกับเรื่องนี้ด้วยความเห็นอกเห็นใจ ควรจะมี และนอกจากนี้ทางตน และอีกอย่างตนอยากที่จะหาผู้เชี่ยวชาญชาวอังกฤษมาร่วมกันให้คำแนะนำถึงเรื่องการข่มขืนและการดำเนินคดีทางกฎหมาย นายอสิฟ กล่าวในที่สุด