วันพุธที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2556

เจ้าท่าภูเก็ตผุดโครงการ "ลงเรือขึ้นเครื่อง”

เจ้าท่าภูเก็ตผุดโครงการ "ลงเรือขึ้นเครื่อง” โดยการเพิ่มเส้นทางจราจรทางน้ำ จากสนามบินไปหาดป่าตอง เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเดินทางแก่นักท่องเที่ยว-ลดปัญหาการจราจรติดขัด

              
                เมื่อเวลา 13.30 น.วันที่ 27 มี.ค.ที่ห้องประชุมศูนย์ราชการกระทรวงการคลัง (ธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ต)  อ.เมือง จ.ภูเก็ต น.ส.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานการประชุมพิจารณารายละเอียดเบื้องต้นการจัดทำโครงการลงเรือขึ้นเครื่อง เส้นทางท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-หาดป่าตอง นำเสนอโดยสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต ทั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มทางเลือกในการเดินทางหรือระบบขนส่งมวลชนให้กับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางโดยสามารถกำหนดเวลาที่จะถึงจุดหมายปลายทางได้แน่นอน เพื่อลดปัญหาการจราจรติดขัด และเพื่อลดจำนวนผู้โดยสารที่แออัดในสนามบิน
                โดยมีนายวิชัย คำคง ผู้อำนวยการเจ้าท่าภูมิภาคที่ 5 นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต นายวงศกร นุ่มชูคันธ์ โยธาธิการและผังเมืองจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจาก ธนารักษ์พื้นที่ภูเก็ต อุทยานแห่งชาติสิรินาถ วิทยุการบินภูเก็ต การท่าอากาศยานภูเก็ต เข้าร่วม
                นายภูริพัฒน์ ธีระกุลพิศุทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต ได้ชี้แจงรายละเอียดเกี่ยวกับการเสนอจัดทำโครงการฯ ว่า ด้วยจังหวัดภูเก็ตเป็นจังหวัดที่มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาเป็นจำนวนมาก โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางผ่านท่าอากาศยานภูเก็ตในปีที่ผ่านมามีจำนวนมากถึง 9.5 ล้านคน ซึ่งในปัจจุบันนี้การเดินทาง หรือขนส่งมวลชนนั้นอาศัยการเดินทางโดยรถโดยสารเพียงอย่างเดียว ดังนั้นสำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขาภูเก็ต จึงมีแนวคิดริเริ่มที่จะเพิ่มเส้นทางจราจรทางน้ำอีกเส้นทางหนึ่ง โดยจะเปิดเส้นทางแรกจากท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-หาดป่าตอง
                เนื่องจากปัจจุบันนี้เส้นทางจากท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต-หาดป่าตองนั้นจะต้องอาศัยรถยนต์ส่วนตัว,รถโดยสารประจำทางหรือรถแท็กซี่ ทำให้การจราจรทางบกหนาแน่นติดขัดในช่วงเวลาที่เร่งด่วนรวมถึงระยะทางจราจรทางบกนั้นมีระยะทางที่มากกว่าระยะทางน้ำ ดังนั้นการเปิดเส้นทางเดินเรือระหว่างสนามบิน-หาดป่าตอง จะเป็นการขนส่งมวลชนอีกทางหนึ่ง ที่จะเป็นทางเลือกหนึ่งของนักท่องเที่ยวและประชาชนที่ต้องการเดินทางโดยกำหนดเวลาถึงที่หมายที่แน่นอน
                นายภูริพัฒน์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันนี้จังหวัดภูเก็ตมีจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นทุกๆ ปี จึงทำให้มีปัญหาด้านการจราจรติดขัด เนื่องจากมีจำนวนรถยนต์มากขึ้นแต่พื้นที่ที่จะขยายพื้นผิวจราจรมีจำกัด การเพิ่มการเดินทางเส้นทางใหม่ๆ หรือระบบขนส่งมวลชนจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว
                โดยเส้นทางการเดินทางจากท่าอากาศยาน นานาชาติภูเก็ต-หาดป่าตองปัจจุบันมีเส้นทางเดียว โดยใช้รถโดยสาร(แท็กซี่) ซึ่งคำนวณการเดินทางได้ ดังนี้ เส้นทางการจราจรทางบก มีระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางในเวลาปกติประมาณ  60  นาที  ใช้เวลาเดินทางในชั่วโมงเร่งด่วนประมาณ  90 นาที เส้นทางเดินเรือมีระยะทางประมาณ 13.5 ไมล์ทะเลหรือ 25 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินทางโดยเรือเร็ว(สปีดโบ๊ท) (ความเร็วประมาณ 35 น็อต) ประมาณ 25  นาที ใช้เวลาเดินทางโดยเรือโดยสาร (ความเร็วประมาณ 20 น็อต) ประมาณ 40 นาที
                นายภูริพัฒน์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตามเป้าหมายของจัดทำโครงการฯ ดังกล่าว เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังจังหวัดภูเก็ตมีความสะดวกสบายเพิ่มขึ้น และสร้างความประทับใจครั้งแรกแก่นักท่องเที่ยว รวมทั้งลดปัญหาการจราจรติดขัดบนท้องถนน รวมทั้งระยะทาง ระยะเวลาในการเดินทาง ซึ่งถ้าโครงการนี้ผ่านการอนุมัติ จังหวัดภูเก็ตจะมีท่าเรือประจำที่ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ต และสามารถที่จะทำเป็นโครงการต่อเนื่องได้ โดยเพิ่มเส้นทางจากท่าเรือที่ท่าอากาศยานนานาชาติภูเก็ตไปยังท่าเรือต่างๆ รอบเกาะภูเก็ตต่อไป ซึ่งเส้นทางแรกของโครงการคือท่าอากาศยานภูเก็ต-หาดป่าตอง นั้นสามารถตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี    
                อย่างไรก็ตามหลังจากการนำเสนอจัดทำโครงการดังกล่าว ในเบื้องต้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในส่วนของวิทยุการบิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อุทยานแห่งชาติสิริ โยธาธิการและผังเมืองภูเก็ต เห็นด้วยที่จะให้มีโครงการดังกล่าวเกิดขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางจราจร จากหาดป่าตองไปสนามบินภูเก็ต ซึ่งจะทำให้ประหยัดทั้งเวลาและเชื้อเพลิง แต่อย่างไรก็ตามแต่ละหน่วยงาน รวมถึงในส่วนของสำนักงานเจ้าท่าฯ จะต้องไปศึกษารายละเอียดข้อกฎหมาย ว่าทำอะไรบ้าง รวมถึงในเรื่องของความปลอดภัย และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจริงๆ เป็นอย่างไร
                โดย น.ส.สมหมาย ปรีชาศิลป์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวสรุปว่า จากการฟังความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ไม่ขัดข้อง เพราจะช่วยแก้ปัญหาด้านการจราจรได้ แต่ก็ต้องไปพิจารณารายละเอียด โดยเฉพาะข้อกฎหมาย เช่น กฎหมายผังเมือง กฎหมายควบคุมอาคาร กฎหมายอุทยานฯ เป็นต้น นอกจากนี้เนื่องจากพื้นที่ที่จะสร้างท่าเทียบเรือในฝั่งท่าอากาศยานภูเก็ต นั้นเป็นพื้นที่ที่ทางธนารักษ์ให้บริษัทวิทยุการบินฯ เช่า และอาจจะไปเกี่ยวเนื่องกับความปลอดภัยของการขึ้นลงเครื่องบินของท่าอากาศยานภูเก็ต รวมถึงการขยายท่าอากาศยานภูเก็ต ซึ่งจะต้องไปหารือกับบริษัทวิทยุการบินฯ และการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยด้วย ก่อนที่จะมีการเดินทางศึกษาความเป็นไปได้ และขอรับการจัดสรรงบประมาณจากกรมเจ้าท่าต่อไป


วันพฤหัสบดีที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2554

เปิดจองพระหลวงพ่อแช่ม รุ่น 104 ปีช่วย"ภูเก็ตเกมส์"




วัดฉลองเปิดจองพระหลวงพ่อแช่ม รุ่น 104 ปี ทำจากพลอยรัสเซีย 7 สีตามวัน วันแรก คึกคัก เพียงชั่วโมงเดียวมีผู้สนใจมาจองรวมเป็นเงิน กว่า 1 แสนบาท เพื่อนำรายได้สมทบทุน การจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ “ภูเก็ตเกมส์ ครั้งที่ 28” ปี 2555

เมื่อวันที่ 1 มิ.ย. ที่วัดไชยธาราราม หรือวัดฉลอง ต.ฉลอง อ.เมืองภูเก็ต ซึ่งเป็นวันแรกที่ทางวัดฉลองได้เปิดให้ประชาชนเข้ามาจองพระหลวงพ่อแช่มรุ่น 104 ปี ที่ทางวัดได้จัดสร้างขึ้นจากพลอยรัสเซีย 7 สีตามวัน เพื่อนำรายได้สนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ภูเก็ตเกมส์ ครั้งที่ 28 ที่จังหวัดภูเก็ตเป็นเจ้าภาพ ในปี 2555 นั้น ปรากฏว่าเพียงชั่วโมงเดียวมีประชาชนสนใจมาจอง รวมเป็นเงินกว่า 1 แสนบาท
พระพงษ์ศักดิ์ เตชวณฺโณ รักษาการเจ้าอาวาสวัดไชยธาราราม(วัดฉลอง) ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต กล่าวว่า ทางวัดได้ให้การสนับสนุนการจัดแข่งขันกีฬาเยาวชนแห่งชาติ ภูเก็ตเกมส์ ครั้งที่ 28 พ.ศ.2555 โดยการจัดสร้างพระ หลวงพ่อแช่ม รุ่น 104 ปี จากหยกรัสเซีย เป็นวัตถุมงคล 7 สีตามวัน ให้กับทางจังหวัดจำนวน 12,000 ชุด และจัดทำเป็นรูปองค์เดี่ยว สีคละกัน จำนวน 16,000 องค์ และกำหนดให้ทางผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตจำหน่ายให้ญาติโยมนำไปบูชาในราคาชุดละ 3,500 บาท และจำหน่ายในราคาองค์ละ 500 บาท รวมพระทั้งหมด 1 แสนองค์ ถ้าคิดเป็นเงิน ประมาณ 50 ล้านบาท
พระพงษ์ศักดิ์ กล่าวอีกว่า ในวันที่ 22 ก.ค.ที่จะถึงนี้ ที่อุโบสถวัดฉลอง ทางวัดจะได้นิมนต์พระเกจิอาจารย์ ชื่อดังทางภาคใต้หลายรูป อย่างเช่น พระเกจิอาจารย์ จากวัดควนเนียน วัดเมืองยะลา วัดบางโพธิ์ เหล่านี้เป็นต้น มาร่วมพิธีพุทธาภิเษกวัตถุมงคลดังกล่าวให้กับทางจังหวัด
“ทางวัดได้ขออนุญาตจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดว่า เรื่องการจองนั้น วัดจะเป็นผู้กระทำเอง เพื่อให้ญาติโยมที่ร่วมกันเป็นเจ้าภาพสนับสนุนกีฬาเยาวชนแห่งชาติในครั้งนี้ ได้มาจองที่วัดฉลองแห่งเดียวโดยทางวัดจะจัดทำบัญชี ร่วมกับทางท่านผู้ว่าฯ การเบิกจ่ายอะไรต่างๆ ต้องให้ผู้ว่าฯ กับวัด เป็นคนดำเนินการทั้งหมด”
นอกจากนี้ พระพงษ์ศักดิ์ ยังได้กล่าวถึงค่าใช้จ่ายในการจัดสร้างวัตถุมงคลครั้งนี้ ด้วยว่า ทางวัดเมตตาให้ทางจังหวัดไปทั้งหมด 46 ล้าน ส่วนที่เหลืออีก 4 ล้าน ทางวัดจะเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายกล่อง สำหรับบรรจุองค์พระ เรื่องการเปิดจอง การนิมนต์พระมาสวดพระพุทธมนต์ พุทธาภิเษก รวมถึงค่าพาหนะต่างๆ ในการดำเนินการจัดสร้างวัตถุมงคล ครั้งนี้ ซึ่งทางวัดจะใช้จ่ายในส่วน 4 ล้าน ส่วนที่เหลือให้ทางจังหวัดทั้งหมด
ส่วน เรื่องการสั่งจอง ผู้สนใจ สามารถสั่งจองได้ที่วัดฉลอง ต.ฉลอง อ.เมือง จ.ภูเก็ต ได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป และกำหนดวันรับวัตถุมงคลในวันที่ 23 ม.ค.2555 เวลา 13.00 น. เป็นต้นไป
ขั้นตอนการสั่งจอง นำบัตรประจำตัวประชาชน,ลายเซ็นผู้จอง และใบสั่งจองจะต้องมีตราประทับของวัด ส่วนในกรณีที่บัตรสั่งจองสูญหาย ต้องแจ้งให้เจ้าหน้าที่ทราบก่อนวันที่ 15 ม.ค.2555 เท่านั้น พร้อมสำเนาบัตรประชาชน และจะต้องเซ็นให้ตรงกับวันมารับวัตถุมงคล เพื่อทางวัดจะได้คัดหาเอกสารเพื่อเป็นหลักฐานในการของรับวัตถุมงคล และทำการอายัดเลขที่ใบสั่งจองไว้ล่วงหน้า หมายเหตุในกรณีที่ไม่ใช้บัตรประจำตัวประชาชน หากใบสั่งจองเกิดการสูญหาย ทางวัดไม่รับผิดชอบใดๆ ทั้งสิ้น

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ภูเก็ตเร่งผลักดันโครงการรถไฟฟ้ารางเบาให้เสร็จภายในปี 2554



เมื่อเวลา 10.30 น.วันที่ 18 พ.ค. นายกวางซิก ชุน (KWANGSIK CHUN) ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จุง ยาง พัฒนา จำกัด (JUNG YONG DEVELOPMENT CORP) ซึ่งเป็นนักลงทุนจากประเทศเกาหลี พร้อมคณะ เข้าพบนายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ที่ห้องทำงานศาลากลางจังหวัดภูเก็ต เพื่อเสนอตัวและยืนยันความพร้อมในการลงทุนโครงการรถไฟฟ้ารางเบาของจังหวัดภูเก็ต พร้อมเชิญชวนทางจังหวัดภูเก็ตไปดูความมั่นคงและความพร้อมของบริษัท ตลอดจนศึกษาดูงานเทคโนโลยีด้านการก่อสร้างรถไฟฟ้าที่ประเทศเกาหลี
สำหรับบริษัทจุง ยาง พัฒนา จำกัด มีผลงานการก่อสร้างโรงงานปูนซิเมนต์และสนามกอล์ฟที่ประเทศเวียดนาม และการก่อสร้างเขื่อนทางตอนใต้ของประเทศลาว
นายตรี กล่าวว่า ทางนายกวางซิก ชุน ได้ส่งเอกสารแจ้งความจำนงในการที่จะลงทุนรถไฟฟ้าของจังหวัดภูเก็ต และเพื่อสร้างความมั่นใจว่ามีความพร้อมอย่างแน่นอน โดยจะมีการจดทะเบียนบริษัทที่ประเทศไทย พร้อมกันนี้ก็จะได้เชิญทางจังหวัดเดินทางไปประเทศเกาหลีเพื่อดูความมั่นคงของบริษัทฯ รวมถึงเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างรถไฟฟ้าของประเทศเกาหลี หลังจากนั้นก็จะได้มีการทำข้อตกลงเกี่ยวกับการศึกษาความเป็นไปได้ของการก่อสร้าง ซึ่งได้เสนอเส้นทางสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง อ.เมืองภูเก็ต ที่ทางจังหวัดได้มีการศึกษาไว้แล้ว พร้อมให้ศึกษาเพิ่มเติมในส่วนของเส้นทางสนามบินภูเก็ต-ศูนย์ประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติ ไม้ขาว ท่าฉัตรไชย อ.ถลาง ด้วย
ด้านนายกวางซิก ชุน ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท จุง ยาง พัฒนา จำกัด กล่าวถึงการสนใจลงทุนโครงการรถไฟฟ้าของจังหวัดภูเก็ต ว่า ในส่วนของการลงทุนรถไฟฟ้ารางเบาของทางบริษัทฯ นั้น จะเป็นการร่วมทุนกับบริษัทในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งขณะนี้มีเงินที่อยู่ในกองทุนและพร้อมที่จะนำมาใช้ในการลงทุนประมาณ 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐอเมริกา แม้ว่าที่ผ่านมาทางบริษัทจะยังไม่เคยมีการลงทุนเกี่ยวกับรถไฟฟ้ามาก่อน แต่ก็มีความพร้อมทั้งในเรื่องเทคโนโลยีซึ่งจะใช้ของประเทศเกาหลี และเม็ดเงินในการลงทุนซึ่งได้รับการสนับสนุนจากบริษัทร่วมทุนในประเทศสหรัฐอเมริกา
“สำหรับประเทศไทยยังไม่เคยลงทุนที่ไหนมาก่อน โดยเหตุที่เลือกลงทุนใน จ.ภูเก็ต เป็นแห่งแรก เนื่องจากมองว่าเป็นจังหวัดที่มีศักยภาพ และเป็นโอกาสในการขยายธุรกิจให้กว้างขวางมากขึ้น ประกอบกับต้องการสร้างต้นแบบของรถไฟฟ้าในเมืองท่องเที่ยวที่มีความปลอดภัยและปราศจากมลพิษ”
นายกวางซิก ชุน กล่าวว่า ขณะนี้ทางบริษัทฯ มีข้อมูลเบื้องต้นของทางจังหวัดภูเก็ตที่ได้มีการศึกษาไว้ตั้งแต่ปี 2549 แต่ก็จะต้องมีการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมให้มีความเหมาะสมกับสภาพพื้นที่และข้อเท็จจริงในปัจจุบัน รวมถึงศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเส้นทางสนามบินภูเก็ต-ศูนย์ประชุมฯ ซึ่งทางบริษัทฯ จะเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายทั้งหม
อย่างไรก็ตาม ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ได้กล่าวเพิ่มเติมด้วย ขณะนี้มีผู้สนใจที่จะมาสร้างรถไฟฟ้ารางเบาที่จังหวัดภูเก็ต ประมาณ 4-5 ราย ทั้งจากประเทศจีน และประเทศเกาหลี ทั้งนี้ขอเรียนว่าสำหรับจังหวัดภูเก็ต ไม่มีเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้น แค่ขอให้ผู้ที่จะมาลงทุน มีความสนใจ และมีเงินพร้อมที่จะมาลงทุนในจังหวัด ภูเก็ต ถ้าบริษัทไหนพร้อม เรายินดีบริษัทที่พร้อมที่สุด เพื่อเสนอรัฐบาลต่อไป เนื่องจากว่าการลงทุนครั้งนี้ ถ้าของบประมาณจากทางรัฐบาล คงไม่มีงบประมาณที่จะจัดสรรมาเพื่อการลงทุนตรงส่วนนี้
“ภูเก็ตของเราในขณะนี้เรื่องของเส้นทางคมนาคม ก็ค่อนข้างติดขัดมากเหลือเกิน แล้วก็ถือว่าอันนี้เป็นความต้องการของพี่น้องชาวจังหวัดภูเก็ตด้วย ผมในฐานะผู้บริหารสูงสุดของจังหวัดภูเก็ต ก็จะพยายามขับเคลื่อนให้เร็วที่สุด ก็คุยกับบริษัทนี้ ก็บอกว่าจะใช้เวลาประมาณเดือนเศษๆ รู้ตกผลึกทุกอย่างแล้ว ผมจะรีบเสนอรัฐบาลต่อไป ส่วนการกำหนดเทิร์นคีย์ สัมปทานอะไรต่างๆ ก็ดี ค่อยมาคุยในรายละเอียดกันต่อไป จะพยายามผลักดันให้เสร็จภายในปี 2554 นี้” นายตรี กล่าวในที่สุด

วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

บริษัทจากจีนพร้อมลงทุนรถไฟฟ้ารางเบาภูเก็ต หากจังหวัดไฟเขียว



นักลงทุนจีนหลายบริษัท เสนอตัวลงทุนรถไฟฟ้ารางเบาที่ภูเก็ต โดยรายล่าสุดโอนเงินเข้าไทยแล้ว 100 ล้านเหรียญสหรัฐฯ พร้อมลงทุนหากจังหวัดไฟเขียว

เมื่อ เวลา 09.30 น.วันที่ 9 พ.ค. นางประนอม พวงกนก และคณะจากบริษัทรุ่งวดี ก่อสร้าง 1991 จำกัด ในนามตัวแทน บริษัท ทีแอลเค เรียลลิตี้ คอนสทรัทชั่น จำกัด ได้เข้าพบนายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เพื่อหารือเสนอตัวเข้ามาลงทุนโครงการรถไฟฟ้ารางเบาที่ภูเก็ต
ทั้งนี้ภายหลังการเข้าพบของคณะดังกล่าว นายตรี ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าการเชิญนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเข้ามาลงทุนโครงการรถไฟฟ้ารางเบาจังหวัดภูเก็ต เส้นทางสนามบิน-ตัวเมืองภูเก็ต และเส้นทางสนามบิน-ศูนย์ประชุมและแสดงนิทรรศการนานาชาติภูเก็ต ว่า โ
ครงการลงทุนก่อสร้างรถไฟฟ้ารางเบาที่ภูเก็ต ได้รับความสนใจจากนักลงทุนจีนหลายบริษัทที่เข้ามาติดต่อกับจังหวัด และหลายๆ บริษัทต้องการที่จะทำสัญญาผูกพัน ให้จังหวัดลงนามให้เป็นผู้ลงทุนในโครงการ แต่เห็นว่าสัญญาดังกล่าวจังหวัดภูเก็ตเป็นผู้เสียเปรียบ และไม่มีความชัดเจนในเรื่องของระยะเวลาการลงทุน จึงยังไม่ได้ตัดสินใจเลือกบริษัทใดเข้ามาศึกษาลงทุน อย่างไรก็ตาม จังหวัดก็ได้ประกาศให้นักลงทุนทราบแล้วว่าจะเลือกบริษัทที่มีความพร้อมที่สุด ซึ่งขณะนี้จังหวัดได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาพิจารณาเลือกบริษัทที่จะเข้ามาลงทุนเพื่อเสนอยังไปยังรัฐบาลแล้ว
นายตรี กล่าวว่า สำหรับบริษัท ทีแอลเค เรียลลิตี้ คอนสทรัทชั่น จำกัด เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่เสนอตัวเข้ามาลงทุนโครงการรถไฟฟ้ารางเบา ตัวแทนบริษัทได้แจ้งให้ทราบว่า พร้อมที่จะเข้ามาลงทุน ซึ่งขณะนี้ผู้ร่วมลงทุนจากประเทศจีนได้โอนเงินจำนวน 100 ล้านเหรียญสหรัฐเข้ามาประเทศไทยแล้ว เพื่อลงทุนโครงการรถไฟฟ้า โดยตัวแทนบริษัทดังกล่าวขอเวลา 15 วันในการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมจากผลการศึกษาที่จังหวัดเคยดำเนินการไว้แล้ว หลังจากนั้นก็จะนำผู้ลงทุนและวิศวกรของบริษัทมาหารืออีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้บริษัทลงนาม MOU ให้บริษัทเป็นผู้ลงทุนโครงการรถไฟฟ้าที่ภูเก็ต

รายล่าสุด จังหวัดได้แจ้งให้ทราบแล้วว่า ความต้องการอันดับแรกของรถไฟฟ้าที่ภูเก็ต จะต้องเป็นเส้นทางสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง และภายหลังจากที่มีศูนย์ประชุมฯ เกิดขึ้นที่ไม้ขาว จังหวัดต้องการที่จะให้ลงทุนเพิ่มในเส้นทางสนามบินภูเก็ต-ศูนย์ประชุมฯ เพื่อรองรับศูนย์ประชุมฯ ที่สร้างแล้วเสร็จภายในเดือน พ.ย.2556” นายตรี กล่าวและว่า
สำหรับเงินลงทุนในเส้นทางสนามบินภูเก็ต-ห้าแยกฉลอง จากผลการศึกษาใช้เงินลงทุนประมาณ 1,200 ล้านบาท และเส้นทางจากสนามบินภูเก็ต-ศูนย์ประชุม ระยะทาง 10 กว่ากิโลเมตร คาดว่า จะต้องใช้เงินลงทุนกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งทั้งสองเส้นทางประมาณการว่าจะต้องใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท

วันพฤหัสบดีที่ 21 เมษายน พ.ศ. 2554

สัมมนาตำรวจประสานความเข้าใจ ระหว่างตำรวจกับภาคประชาชน






เมื่อเวลา 09.00 น.วันที่ 21 เม.ย. ที่ห้องประชุมตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต พล.ต.ต.พิกัด ตันติพงศ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานเปิดการสัมมนา โครงการสัมมนาคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจจังหวัดภูเก็ตและสถานีตำรวจ ต่อต้านอาชญากรรมและยาเสพติด ซึ่งตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ตจัดขึ้น โดยมีรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรในสังกัด และคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ตและสถานีตำรวจ (กต.ตร.) ต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต เข้าร่วม
พ.ต.อ.ชาณุชาญ ชลสุวัฒน์ ผกก.ฝ่ายอำนวยการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า สืบเนื่องจากตำรวจภูธรภาค 8 ได้มอบหมายให้ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ดำเนินการจัดสัมมนา ตามโครงการสัมมนาคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจจังหวัดและสถานีตำรวจ ต่อต้านอาชญากรรมและยาเสพติด เพื่อทำความเข้าใจถึงแนวทางการพัฒนา กต.ตร.ในทุกระดับ ประสานความเข้าใจระหว่างข้าราชการตำรวจกับประชาชนในการปฏิบัติงานร่วมกัน ในการแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด การจราจร ที่เกิดขึ้นในชุมชน เพื่อร่วมกันสร้างชุมชนให้เข้มแข็ง กำหนดข้อเสนอแนะและแนวทางในการพัฒนาด้านการบริหารจัดการสถานีตำรวจหรือหน่วยงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทางราชการ ตามนโยบายของรัฐบาล
ด้านพล.ต.ต.พิกัด ตันติพงศ์ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต กล่าวตอนหนึ่ง ว่า เป้าหมายของการสัมมนาฯ มุ่งเน้นที่จะให้การประสานความเข้าใจของข้าราชการตำรวจกับภาคประชาชนเกิดประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาหน่วยงานแบบมีส่วนร่วมกับภาคประชาชนอย่างแท้จริง มุ่งเน้นให้ความรู้ความเข้าใจกับคณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานตำรวจทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชน เพื่อจะได้ปรับกลยุทธ์ในการทำงานให้เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อหน่วยงาน และทราบถึงปัญหาในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ปัญหาอาชญากรรม ยาเสพติด การจราจร และปัญหาอื่นๆ เพื่อนำมาเสนอแนะและกำหนดแนวทางในการพัฒนาร่วมกัน
“ภารกิจของ กต.ตร.นั้นจะทำหน้าที่ในการตรวจสอบการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการทำงานระหว่างภาคประชาชนกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ และสนับสนุนการทำงานของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะการให้ข้อมูลข่าวสารต่างๆ ที่จะช่วยให้การทำงานของเจ้าหน้าที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น” พล.ต.ต.พิกัด กล่าว

วันอาทิตย์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2554

สงขลาเฉือนชนะนครฯ 1:0 ครองแชมป์ฟุตบอลจตุรมิตร 54











วันที่ 19 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่สนามกีฬาสะพานหิน เทศบาลนคร อ.เมือง จ.ภูเก็ต ได้มีการแข่งขันกีฬาจตุรมิตร ครั้งที่ 7 ประจำปี 2554 ซึ่งสมาคมชาวนครศรีธรรมราชเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน มีนายวีระวัฒน์ จันทร์เพ็ญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานในพิธี และได้ร่วมกับนายปมุข อัจฉริยะฉาย นายกสมาคมชาวนครศรีธรรมราช นายสัจจพล ทองสม นายกสมาคมชาวพัทลุงจังหวัดภูเก็ต ผู้แทนจากชมรมชาวตรัง ตัวแทนชมรมชาวสงขลาจังหวัดภูเก็ต ร่วมเตะปี๊บทำพิธีเปิดการแข่งขันกีฬาจตุรมิตร ขึ้นอย่างเป็นทางการด้วย โดยมีนางจุฑารัตน์ เรืองวิมล ประธานชมรมชาวสงขลา และสมาชิกของจังหวัดจตุรมิตร ทั้ง 4 จังหวัด ภูเก็ต สงขลา ตรัง พัทลุง และนครศรีธรรมราช รวมถึงแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมจำนวนมาก

ทั้งนี้การจัดการแข่งขันดังกล่าว นายทนงศักดิ์ ศักดิ์เกษมกฤต ประธานการจัดงาน กล่าวว่า การแข่งขันกีฬาจตุรมิตร ปี พ.ศ.2554 ในครั้งนี้ เป็นการสร้างความสมานสามัคคีกันในมวลสมาชิกชาวจตุรมิตร เพื่อเป็นการส่งเสริมการออกกำลังกายของมวลสมาชิก เพื่อสร้างกิจกรรมร่วมกันในการนำไปสู่การทะนุบำรุงให้สังคมภูเก็ตมีความเข้มแข็ง และเพื่อสังสรรค์แลกเปลี่ยนความคิดเห็นช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

สำหรับประเภทของกีฬาในการแข่งขันครั้งนี้ มี 3 ประเภทกีฬา โดยประเภทกีฬาฟุตบอลประเพณี ซึ่งเป็นกีฬาหลักที่ต้องแข่งขันทุกปี ผลการแข่งขันในคู่ชิงปรากฏว่า ชมรมชาวสงขลาตีประตูก่อนหมดเวลาในครึ่งหลังเอาชนะทีมชาวนครฯ ไป 1:0 ประตู ขณะที่ผลการแข่งขันในประเภทกีฬาพื้นบ้าน ซึ่งปีนี้มีกีฬาวิ่งผลัดหนีบท่อพีวีซี กีฬาวิ่งผลัดกางเกงใน และกีฬาเตะปี๊บ ปรากฏว่าพัทลุงเอาชนะในทุกรายการแข่งขัน ส่วนการแข่งขันในประเภทกีฬาเสริม มีการแข่งขันเปตอง ในคู่ชิง โดยทีมสมาคมชาวนครศรีธรรมราชเอาชนะทีมชมรมชาวสงขลา การแข่งขันสนุกเกอร์ และการแข่งขันกอล์ฟ ทีมชนะได้แก่สมาคมชาวพัทลุง คว้าถ้วยรางวัลไปครอง

วันเสาร์ที่ 19 มีนาคม พ.ศ. 2554

ภูเก็ตเปิดบัญชีรับบริจาคเงิน ช่วยผู้ประสบภัยสึนามิที่ญี่ปุ่น




เมื่อ เวลา 13.30 น. วันที่ 16 มี.ค.ที่ห้องรับรอง ศาลากลางจังหวัดภูเก็ต นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการและเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องร่วมกันเปิดศูนย์รับบริจาคเงินช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ ที่ประเทศญี่ปุ่น หรือ”ภูเก็ตร่วมใจ ช่วยผู้ประสบภัยที่ญี่ปุ่น” โดยมีนายคาซูชิ มิยาชิตะ ( Kazushi Miyashita )นายกสมาคมญี่ปุ่นภูเก็ต ตัวแทนนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นในจังหวัดภูเก็ต ตลอดจนตัวแทนกงสุลอาชีพและกงสุลกิตติมศักดิ์นานาชาติ,นักธุรกิจ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมาร่วมบริจาค พร้อมกันนี้ทางบริษัททีโอที คอร์ปอเรชั่นจำกัด (มหาชน) สนับสนุนติดตั้งหมายเลขโทรศัพท์ 076 216 333 และมีเจ้าหน้าที่คอยรับโทรศัพท์ด้วย

นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 11 มีนาคมที่ผ่านมา หลายคนคงทราบว่ามีความรุนแรงมากเหลือเกินที่ทำลายทั้งชีวิตชาวญี่ปุ่น ทรัพย์สินและบ้านเรือน เป็นจำนวนมาก หลังจากที่ประชาชนที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ตทราบข่าวนี้ ทำให้นึกย้อนไปเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2547หรือ 7 ปี ที่แล้วจังหวัดภูเก็ตและจังหวัดอื่นๆ อีก 5 จังหวัดในบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน ประสบปัญหาธรณีพิบัติภัยหรือคลื่นสึนามิ ยังซึ้งใจชาวญี่ปุ่น เพราะปรากฏว่าในครั้งนั้นประเทศญี่ปุ่น เป็นชาติแรกๆ ที่เข้ามาสนับสนุนช่วยเหลือชาวภูเก็ตมากเหลือเกิน นอกจากนี้ในช่วงการจัดงานรำลึกทุกปีชาวญี่ปุ่นและสมาคมญี่ปุ่นภูเก็ต ยังส่งตัวแทนมาประสานงานเพื่อร่วมงานด้วย
ดังนั้นทางจังหวัดจึงเปิดศูนย์เพื่อรับบริจาคเงินและส่งไปช่วยเหลือ ชาวญี่ปุ่น ประกอบกับกระทรวงมหาดไทย ทำหนังสือแจ้งให้จังหวัดภูเก็ต และเข้าใจว่า น่าจะทุกจังหวัดรวบรวมเงินต่างๆ ที่ประชาชนในพื้นที่บริจาคช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นและมีกำหนดจัดตั้งศูนย์ต่อเนื่องจนถึงวันที่ 26 มีนาคมนี้ เมื่อรวบรวมเงินได้แล้ว จะรวบรวมส่งถึงกระทรวงมหาดไทย ที่จะส่งมอบต่อกระทรวงการต่างประเทศและ ส่งให้ทางการประเทศญี่ปุ่นต่อไป

ทั้งนี้ในวันนี้นายคาซูชิ มิยาชิตะ นายกสมาคมญี่ปุ่นภูเก็ต และคณะเข้ามาหารือจังหวัดภูเก็ตและแจ้งว่าได้ช่วยเหลือไปส่วนหนึ่งแล้ว และมีแนวคิดตรงกันพอดี ที่พิจารณาเปิดศูนย์ขึ้นมารองรับการรณรงค์บริจาคเป็นเงินสด เนื่องจากการบริจาคเป็นสิ่งของมาให้จังหวัดรวบรวมและส่งไป จะไม่สะดวกโดย สามารถติดต่อสอบถามและบริจาคผ่านบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารกรุงไทย จำกัด(มหาชน) เลขที่บัญชี 805-0-41578-3 และจังหวัดพยายามที่จะประชาสัมพันธ์ทุกวิถีทางเพื่อที่จะให้ประชาชน ชาวญี่ปุ่นรวมทั้งคนที่มาเที่ยวใน จังหวัดภูเก็ต มีโอกาสร่วมบริจาคเงินจนถึงเวลา 12.00น.ของวันที่ 26 มีนาคม 2554 หลังจากนั้น จะโอนเงินให้กระทรวงมหาดไทย ดำเนินการต่อไป
นอกจากนี้ นายตรี ยังได้กล่าวเชิญชวนพี่น้องชาวภูเก็ตตลอดจนชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ในภูเก็ตร่วมกันบริจาคเงินให้การช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นที่ประสบภัยสึนามิอยู่ในขณะนี้ เหมือนกับที่ชาวญี่ปุ่นได้ให้การช่วยเหลือภูเก็ตและจังหวัดอันดามัน ในช่วงที่เกิดสึนามิ รวมทั้งการในการจัดพิธีรำลึกถึงผู้เสียชีวิตจากสึนามิทางสมาคมญี่ปุ่น ภูเก็ต ก็ได้ดำเนินการมาตลอด 7 ปีที่ผ่านมา
ทางด้านนายคาซูชิ มิยาชิตะ นายกสมาคมญี่ปุ่นภูเก็ต กล่าวว่า ในช่วงหน้าท่องเที่ยวหนาแน่นหรือไฮซีซั่น มีนักธุรกิจชาวญี่ปุ่นประกอบธุรกิจเกี่ยวกับบริษัทนำเที่ยว-โรงแรม,ธุรกิจดำน้ำและผู้ที่เกษียณอายุ อาศัยอยู่ในพื้นที่หาดป่าตอง และในตัวเมืองภูเก็ตมากถึงประมาณ 400-500 คน และรู้สึกดีใจ และขอบคุณมามากที่ชาวภูเก็ต ได้ร่วมมือร่วมใจกันช่วยเหลือชาวญี่ปุ่นที่ประสบภัยสึนามิโดยการจัดตั้งศูนย์รับบริจาค เพราะในปี 2547 นั้น เกิดคลื่นสึนามิ ชาวญี่ปุ่นได้มาช่วยเหลือชาวภูเก็ตมากพอสมควร จากการตรวจสอบพบว่า มีชาวญี่ปุ่นที่มาจากเมืองเซ็นได บางส่วน คือพนักงานในบริษัทดำน้ำ 1 คน มีญาติและพ่อแม่อาศัย อยู่ในพื้นที่ประสบภัย ที่ติดต่อได้ครบถ้วน แต่ เพื่อนๆ ติดต่อยังไม่ได้ รวมทั้งมีนักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นจากเมืองเซ็นไดอยู่ในจังหวัดภูเก็ตส่วนหนึ่งด้วย

นอกจากนี้ นายกสมาคมญี่ปุ่นภูเก็ต กล่าวว่า ในปัจจุบันชาวญี่ปุ่นที่อยู่ในพื้นที่ประสบภัยสึนามิ มีความต้องการด้าน น้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับใช้กับยานพาหนะและเครื่องทำ ความร้อนหรือฮีตเตอร์ เพราะว่า อากาศยังหนาวเย็นอยู่ หรือในวันนี้อุณหภูมิลดลงเหลือ 0 องศาเซลเซียสมีหิมะตก รวมทั้งผ้าห่มเวชภัณฑ์,แบตเตอรี่ สำหรับใช้กับวิทยุสื่อสาร ตลอดจนผ้าอ้อมและอาหารสำหรับเด็ก อย่างไรก็ดีการจัดส่งสิ่งของอาจจะกระทำได้ลำบากเพราะเส้นทางถนน ทางรถไฟ ในพื้นที่ประสบภัยสึนามิเสียหาย แนวทางที่เหมาะสม คือ การร่วมบริจาคเงิน ที่ เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องจะโอนถึงทางการญี่ปุ่น และพิจารณานำไปสมทบทุนจัดซื้อสิ่งของที่จำเป็นสำหรับผู้ประสบภัยต่อไป