วันพุธที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2554

ภูเก็ต จัดเวทีประชาคมเพื่อกำหนดประเด็นปัญหาสังคมสู่แนวทางการแก้ไข

เมื่อเวลา 10.00 .วันที่ 11 มกราคม 2554 ที่ห้องประชุมมูลนิธิกุศลธรรมภูเก็ต นายสมเกียรติ สังข์ขาวสุทธิรักษ์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต เป็นประธานพิธีเปิดเวทีประชาคมระดับจังหวัด เพื่อกำหนดประเด็นปัญหาสังคม สู่แนวทางการแก้ไข โดยมีผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ผู้แทนองค์กรสาธารณะประโยชน์ องค์กรสวัสดิการชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และเครือข่ายอาสาสมัครเข้าร่วม
น.ส.พรรณี สิทธิการ พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า การจัดเวทีประชาคมระดับจังหวัด เพื่อกำหนดประเด็นปัญหาสังคมครั้งนี้ เพื่อรับฟังความคิดเห็นปัญหาสังคมของจังหวัดภูเก็ต
และแนวทางการแก้ไขปัญหา มุ่งขับเคลื่อนงานกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม ตามโครงการกระจายกองทุนส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น การดำเนินงานโครงการแก้ไขปัญหาสังคม และคุณภาพชีวิต และโครงการเฝ้าระวังและเตือนภัยทางสังคม
การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็น ประกอยด้วยการแบ่งกลุ่มรับฟังความคิดเห็นต่อปัญหาสังคมหลักของจังหวัด ซึ่งต้องเป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อคนจำนวนมาก หากปล่อยทิ้งไว้อาจเกิดการรุกรามขยายตัวก่อให้เกิดปัญหาสังคมอื่น ๆ ตามมา จำเป็นต้องได้รับการแก้ไข้อย่างเร่งด่วน และปัญหาดังกล่าวต้องตอบสนองนโยบายของรัฐบาล ยุทธศาสตร์กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงยุทธศาสตร์ของจังหวัด พร้อมทั้งการเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาจัดลำดับความสำคัญ ทั้งนี้ จะได้นำประเด็นปัญหาที่สำคัญและเร่งด่วน 1 ประเด็น ตามที่เวทีเสนอไปกำหนดมาตรการเพื่อแก้ไข โดยการขอรับการสนับสนุนเงินกองทุนจากกองทุนส่งเสริมจัดสวัสดิการสังคม
ตามโครงการกระจายเงินกองทุนสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น ในเรื่องการจัดสวัสดิการสังคมระดับจังหวัดเชิงประเด็นและกลุ่มเป้าหมาย และจะนำประเด็นปัญหาดังกล่าวมาดำเนินการโครงการแก้ไขปัญหาสังคม และคุณภาพชีวิต และการเฝ้าระวังและเตือนภัยทางด้านสังคม
ด้านนายสมเกยีรติ กล่าวว่า
จังหวัดภูเก็ตมีปัญหาสังคมหลายเรื่องด้วยกัน เช่น ปัญหาเด็กและเยาวชน,
ปัญหาความสัมพันธ์ในครอบครัวเปราะบาง ปัญหาความอ่อนแอของชุมชนและสังคม ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาค่านิยม ปัญหาสิ่งแวดล้อม ปัญหาการบุกรุกสถานที่สาธารณะ ปัญหาความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นต้น ซึ่งปัญหาต่างๆ ดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องใช้พลังทางสังคมและชุมชนร่วมกันแก้ไขปัญหา
ทั้งนี้ในการแก้ไขปัญหาสังคมของจังหวัดนั้น ทุกภาคส่วนต้องร่วมสะท้อนปัญหาในพื้นที่หรือปัญหาที่ได้พบเห็นนำมาเสนอต่อเวทีสาธารณะ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน
และทุกฝ่ายต้องร่วมสร้างจิตสำนึกโดยต้องร่วมกันแก้ไขปัญหาและมองว่าปัญหาสังคมเหล่านั้น เป็นปัญหาของชุมชนหรือสังคม ไม่ใช่ผลักว่าการแก้ไขปัญหาสังคมเป็นหน้าที่ของหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นต้องแก้ไข ซึ่งโดยความเป็นจริงนั้น การแก้ไขปัญหาสังคมให้ได้ผลนั้น ต้องเกิดจากการร่วมมือกันของฐานชุมชน ด้วยการสร้างความเข้มแข็งของชุมชน ท้องถิ่น และประชาสังคมเพื่อการจัดการแก้ไขปัญหาของชุมชนเอง ทั้งนี้แต่ละท้องถิ่นมีวัฒนธรรมที่แตกต่างหลากหลาย ท้องถิ่นต้องกำหนดการพัฒนาด้วยการมองและสะท้อนปัญหาของตัวเอง เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น