วันพุธที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2554

พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่กะทู้เปิดให้ชมเป็นทางการต้นเดือนมี.ค.ศกนี้






























เมื่อเวลา 14.00 น.วันที่ 18 ม.ค. นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ตไปเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่กะทู้ ต.กะทู้ อ.กะทู้ จ.ภูเก็ต โดยมีนายชัยอนันท์ สุทธิกุล นายกเทศมนตรีเมืองกะทู้ พร้อมฝ่ายบริหาร สมาชิกสภา ข้าราชการ พนักงานเทศบาลเมืองกะทู้ และเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้องร่วมต้อนรับพร้อมนำชมส่วนต่างๆ ของพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่กะทู้
นายตรี อัครเดชา ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวภายหลังเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ โดยมองอนาคตของพิพิธภัณฑ์เหมือแร่แห่งนี้ที่จะเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของภูเก็ต ว่า อนาคตสดใสแน่นอน เนื่องจากว่าทุกอย่างที่รวมอยู่ในพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่แห่งนี้ เป็นแหล่งทำรายได้ให้ภูเก็ตเมื่อในอดีตที่ผ่านมา ซึ่งเหมืองแร่ของภูเก็ตทำมาตั้งแต่รัชกาลที่ 3 และมาสิ้นสุดการทำเหมืองแร่จริงๆ หลังจากแร่ทางโลกตกต่ำลงไป เมื่อประมาณปี 2528 ภูเก็ตโชคดีอย่างหนึ่ง หลังจากที่ผ่านกิจการเหมืองแร่ไปแล้ว ยังมีแหล่งท่องเที่ยวทางอื่นๆ ช่วยเสริมในเรื่องของการท่องเที่ยว และจากการมาเยี่ยมชมในครั้งนี้เห็นว่าในอนาคตพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่แห่งนี้น่าจะทำเงินได้มากพอสมควร เนื่องจากวิถีการทำชีวิตเหมืองแร่ ณ พิพิธภัณฑ์ฯ แห่งนี้สมบูรณ์แบบมากที่สุด หลังจากมีการบำรุงรักษามาโดยตลอดเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา ใช้เงินประมาณ 100 กว่าล้านบาท
นายตรี กล่าวอีกว่า จากการสอบถามเจ้าหน้าที่ ทราบว่าขณะนี้มีผู้มาชมพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เยอะพอสมควร เนื่องจากยังเป็นการเปิดให้เข้าชมฟรี แต่หลังจากเปิดใช้อย่างเป็นทางการในต้นเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ก็จะมีการเปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมสำหรับนักท่องเที่ยว และนักเรียน นักศึกษา รวมถึงประชาชนทั่วไป เพื่อเป็นรายได้ที่จะสนับสนุนในส่วนของพนักงานที่อยู่ประจำ ณ พิพิธภัณฑ์ฯ อีกส่วนหนึ่งก็จะสนับสนุนเรื่องการปรับปรุงภูมิทัศน์ หรือสิ่งที่คิดว่ามีความชำรุดทรุดโทรมลงไป ก็จะช่วยลดภาระของเทศบาลเมืองกะทู้ไปได้ส่วนหนึ่ง เพื่อที่ทางเทศบาลจะได้เอาเงินงบประมาณของเขาไปพัฒนา สิ่งที่เจริญอยู่แล้ว
“ในการจำหน่ายบัตรเข้าชมพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ดังกล่าว ในอัตราต่างๆ ทางจังหวัด เทศบาล และคณะกรรมการต่างๆ จะมีการประชุมกันอีกครั้ง เมื่อถึงจุดนั้น ทุกภาค ทั้งสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยว การท่องเที่ยวฯ ภูเก็ต เทศบาล และจังหวัด จะมาช่วยกันประชาสัมพันธ์ และเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้รู้ว่าพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่แห่งนี้เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ยิ่งใหญ่แห่งหนึ่งในภูเก็ต ซึ่งก็เข้าใจว่าถ้าติดตลาดขึ้นมา พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะเป็นแหล่งที่มีความสำคัญของจังหวัดภูเก็ต แล้วก็เป็นแหล่งที่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ในอนาคต” นายตรี กล่าว
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต ยังได้แสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมเกี่ยวกับรายละเอียดต่างๆ ภายในอาคารพิพิธภัณฑ์ ด้วยว่า ส่วนแรก ถ้าพูดถึงตัวอาคาร หรือว่าในห้องต่างๆ ภายในอาคารที่ตนได้เข้าไปดู ก็จะมีหลายจุดที่คิดว่า ขั้นตอน อุปกรณ์การทำเหมืองแร่ยังไม่มากเท่าที่ควร ถ้าเรามีการประชุมนายหัวเหมืองแร่ต่างๆ ในจังหวัดภูเก็ต เพื่อขอสนับสนุนอุปกรณ์การทำเหมืองแร่ที่เก็บสะสมไว้ ก็จะทำให้พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่กะทู้ ดูแล้วมีความเข้าใจ และสมบูรณ์มากมากยิ่งขึ้น ส่วนที่สอง คือภูมิทัศน์โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่พิพิธภัณฑ์เหมืองแร่ ซึ่งมีประมาณ 2 ร้อย ถึง 3 ร้อยไร่ด้วยกัน แล้วก็มีขุมเหมืองขนาดใหญ่ด้วย ถ้าเราทำอย่างอื่นประกอบ คนที่มาเที่ยวนอกจากชมพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่แล้ว อาจจะมีตลาดน้ำเหมืองแร่ในอนาคตมาทำเพิ่มเติมขึ้นมา ก็จะได้มีความหลากหลายในจุดเดียวกัน เพราะฉะนั้นคนที่จะมาเมื่อมาแล้วนอกจากจะชมพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่แล้วอาจจะไปชมวิถีชีวิตการขายอาชีพของพี่น้องชาวภูเก็ต ที่มีความผสมผสานกัน ตนว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับนักท่องเที่ยวในอนาคต
ด้านนายชัยอนันท์ สุทธิกุล นายกเทศมนตรีเมืองกะทู้ กล่าวถึงความคืบหน้าของพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่กะทู้ ว่า สำหรับพิพิธภัณฑ์เหมืองแร่กะทู้ ใช้งบประมาณลงไปดำเนินการแล้วประมาณ 130 กว่าล้านบาท แบ่งออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกการก่อสร้างอาคารประมาณ 50 กว่าล้าน ส่วนที่สองการตกแต่งภายในอาคาร ประมาณ 20 กว่าล้าน ส่วน 3 การปรับปรุงภูมิทัศน์ประมาณ 20 กว่าล้าน และส่วนที่ 4 การจัดทำลานเหมืองแร่จำลองประมาณ 20 กว่าล้านบาทโดยในต้นเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ จะมีการแถลงข่าวเปิดพิพิธภัณฑ์ฯ ขึ้นอย่างเป็นทางการ ซึ่งตอนนี้มีนักเรียน นักศึกษาเข้ามาชมตลอด สำหรับที่ผ่านมาในช่วงปีใหม่แล้วก็วันเด็กมีนักศึกษา นักเรียนเข้ามาชมค่อนข้างที่จะเยอะแต่ ทางเทศบาลหรือว่าทางพิพิธภัณฑ์ยังไม่ได้เก็บค่าบริการต่างๆ ซึ่งถือว่าช่วงนี้เป็นช่วงเรียนรู้เพื่อที่จะให้นักเรียนหรือว่าคนในพื้นที่ได้มาดู แต่หลังจากเปิดตัวแล้ว จะมีการขายบัตรเข้าชม เพื่อที่จะนำเงินส่วนนี้มาปรับปรุงภูมิทัศน์ บำรุงรักษาพิพิธภัณฑ์ ตลอดจนเพิ่มความรู้ให้กับบุคลากรในพิพิธภัณฑ์ให้มีความรู้มากขึ้น และบุคลากรต่างๆ ก็ต้องหาแหล่งเงินทุนให้สามารถที่จะพอเลี้ยงตัวเองได้ส่วนแผนประชาสัมพันธ์ในกลุ่มนักท่องเที่ยว
นายชัยอนันท์ กล่าวอีกว่า ตอนนี้มีการประชาสัมพันธ์ โดยเชิญท่านผู้ว่าฯ มาถ่ายภาพที่พิพิธภัณฑ์ เพื่อที่จะทำเป็นคัตเอาท์ในการโปรโมท แล้วก็ทำเป็นแผ่นพับ เพื่อที่จะโฆษณาให้รู้ว่าพิพิธภัณฑ์พร้อมเปิดให้เข้าชมแล้ว โดยในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ จะมีรายละเอียดตั้งแต่ของเก่าๆ วัฒนธรรม แล้วก็วิถีการทำเหมืองแร่ตั้งแต่อดีตจนมาถึงปัจจุบัน วิถีชีวิตของชาวบ้าน โดยเฉพาะการทำเหมืองแร่มีวิถีชีวิตเป็นอย่างไร ตลอดจนอุปกรณ์ต่างๆ ที่คนที่เคยทำเหมืองแร่บริจาคไว้ให้พิพิธภัณฑ์












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น